1. Home
  2. Laboratory Improvement
  3. Laboratories Outside the USA
  4. Sharing CAP Expertise
  5. Thailand’s Top Teaching Hospital Achieves CAP Accreditation, Elevating Their High-Quality Education and Care - Thai

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยระดับชั้นนำของไทยได้รับ การรับรองคุณภาพจาก CAP พร้อมยกระดับ การเรียนการสอนและการดูแลที่มีคุณภาพสูง

English | ไทย | Tiếng Việt

โรงพยาบาลศิริราช สังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลรัฐแห่งแรกของประเทศไทยซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อกว่า 130 ปีที่แล้ว ปัจจุบัน เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการจาก College of American Pathologists (CAP) ในฐานะศูนย์การแพทย์ด้านการรักษาขั้นตติยภูมิและขั้นจตุรภูมิขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ[1] โรงพยาบาลศิริราชมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปคือ ความมุ่งมั่นในการให้บริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุดและดูแลผู้ป่วยอย่างเอื้ออาทร

ผู้นำที่ขับเคลื่อนด้วยพันธกิจให้ความสำคัญกับอนาคต

เมื่อ พ.ศ. 2533 รศ. พญ. พนัสยา เธียรธาดากุล ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการ ได้ตัดสินใจเข้าทำงานที่ภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากรู้สึกสนใจพันธกิจของโรงพยาบาลศิริราชในการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ การวิจัย และการให้บริการทางการแพทย์ระดับชั้นนำ นับแต่นั้นมา พญ. พนัสยา ได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันให้ศิริราชมีความก้าวหน้า โดยสานต่อวิสัยทัศน์ของอดีตหัวหน้าภาควิชาคนก่อน (รศ. ดร. พญ. นิศารัตน์ โอภาสเกียรติกุล) ด้วยการเป็นผู้นำคณะทำงานของโรงพยาบาลศิริราชในการขอรับการรับรองคุณภาพจาก CAP

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้รศ. พญ. พนัสยาตัดสินใจขอการรับรองคุณภาพคือ เพื่อปรับปรุงกระบวนการและคุณภาพห้องปฏิบัติการของภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากห้องปฏิบัติการนี้มีหน้าที่ดำเนินการทดสอบส่วนใหญ่ของโรงพยาบาล เมื่อผลการทดสอบมีความแม่นยำมากขึ้น โรงพยาบาลก็จะสามารถเพิ่มความปลอดภัยและความพึงพอใจของผู้ป่วย นอกจากนี้ รศ. พญ. พนัสยา ยังเชื่อมั่นว่า การได้รับยกย่องเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงจะดึงดูดแพทย์ประจำบ้านสาขาพยาธิวิทยาคลินิกและนักเทคนิคการแพทย์ระดับแนวหน้ามาร่วมทำงาน พร้อมทั้งสนับสนุนวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ของโรงพยาบาลในการเป็นผู้นำด้านการแพทย์ที่ได้รับความไว้วางใจในระดับสากล ยิ่งไปกว่านั้น ชื่อเสียงของ CAP ในด้านความเป็นเลิศจะช่วยสนับสนุนให้ศิริราชเป็นโรงพยาบาลอันดับหนึ่งในประเทศไทย

ท้ายที่สุดคือ โรงพยาบาลศิริราชจำเป็นต้องพิสูจน์ว่าได้ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านคุณภาพที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับทุนวิจัยระดับนานาชาติ โปรแกรมการรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการของ CAP มีชื่อเสียงทั่วโลกในด้านความเป็นเลิศเนื่องจากมีมาตรฐานระดับสูง ที่มุ่งเน้นด้านเวชศาสตร์และพยาธิวิทยาในห้องปฏิบัติการโดยเฉพาะ รวมทั้งควบคุมดูแลให้ห้องปฏิบัติการทุกแห่งมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะตั้งอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม

ประสานความร่วมมือเพื่อปูทางสู่ความสำเร็จ

หลังจากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่และการอนุมัติงบประมาณจากคณบดีและคณะผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลแล้ว รศ. พญ.พนัสยา และทีมงานได้เริ่มดำเนินการต่าง ๆ เพื่อขอรับการรับรองคุณภาพจาก CAP ขั้นตอนแรกคือ การช่วยให้เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดจึงต้องริเริ่มโครงการสำคัญเช่นนี้ หลังจากอธิบายประโยชน์ของการรับรองคุณภาพและวิธีการดำเนินงานในแต่ละวันของเจ้าหน้าที่ที่จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดียิ่งขึ้น ทีมงานจึงมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้

รศ. พญ. บุษฎี ประทุมวินิจ ผู้จัดการโครงการสำหรับกระบวนการขอการรับรองคุณภาพ รับหน้าที่ฝึกอบรมและตรวจติดตามความก้าวหน้าของเจ้าหน้าที่ โดยมีทีมเจ้าหน้าที่อาสาสมัครแกนหลักช่วยสนับสนุน ร่วมกันศึกษา checklists และช่วยให้สมาชิกทีมคนอื่น ๆ เข้าใจข้อกำหนด แล้วทำการวิเคราะห์ข้อบกพร่องและดำเนินการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

รศ. พญ. บุษฎี กล่าวว่า จากนั้นทีมงานได้เตรียมพร้อมสำหรับการตรวจประเมินด้วยการเยี่ยมชมและปรึกษาห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ในประเทศไทยที่มีการรับรองคุณภาพจาก CAP รวมถึงโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, ห้องปฏิบัติการวิจัย ศูนย์ประสานความร่วมมือระหว่างไทย ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ เพื่อการศึกษาวิจัยทางคลินิกด้านโรคเอดส์ (HIV-NAT), หน่วยแพทย์ทหารบกสหรัฐฯ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (USAMD-AFRIMS) และห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อเอชไอวี/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (ประเทศไทย) กับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) อีกทั้งได้ติดต่อขอความช่วยเหลือและคำแนะนำเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ CAP ในประเทศไทยและผู้เชี่ยวชาญที่ CAP ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้กระบวนการรับรองคุณภาพเป็นไปอย่างราบรื่น

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศิริราชยังทำการตรวจประเมินตนเองโดยใช้ Customized checklists ของ CAP และได้ค้นพบข้อบกพร่องต่าง ๆ รวมทั้งเรียนรู้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการและการดูแลผู้ป่วยที่มีคุณภาพระดับสูง

ในระหว่างการตรวจประเมินอย่างเป็นทางการ สมาชิกทีมทั้งหมดยังได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความเป็นเลิศด้านห้องปฏิบัติการมากขึ้น เมื่อคณะผู้ตรวจประเมินระบุข้อบกพร่องอื่น ๆ และหารือเรื่องแนวคิดในการปรับปรุง ซึ่งรวมไปถึงคำแนะนำจากประสบการณ์จริง เช่น การสร้างระบบคอมพิวเตอร์เพื่อจัดเก็บเอกสารให้สามารถระบุและเรียกค้นได้ง่ายและรวดเร็ว คณะผู้ตรวจประเมินยังได้สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศิริราชให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหลังจากได้รับการรับรองคุณภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าการดูแลผู้ป่วยจะเป็นไปอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

“ผู้ตรวจประเมินของ CAP ทำมากกว่าแค่การตรวจประเมิน เพราะพวกเขาทั้งสอน แบ่งปันความรู้ และสนับสนุนเพื่อนร่วมสาขาเวชศาสตร์ห้องปฏิบัติการด้วย” ศ. นพ. อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

ดิฉันมั่นใจว่าการเป็นห้องปฏิบัติการที่มีการรับรองคุณภาพจาก CAP เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

รศ. พญ. พนัสยา เธียรธาดากุล ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการ หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

การรับรองคุณภาพผลักดันให้เกิดความรู้เชิงลึกและการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น

ตลอดกระบวนการรับรองคุณภาพ ทีมงานได้รับความรู้เพิ่มยิ่งขึ้นในทั้งแง่เทคนิคและการบริหารจัดการของการดำเนินงานห้องปฏิบัติการที่มีคุณภาพสูง ตัวอย่างเช่น ทีมงานได้เรียนรู้ว่า สามารถใช้สิ่งส่งตรวจในการทดสอบความชำนาญ/การประเมินคุณภาพภายนอก (PT/EQA) มาประเมินสมรรถนะของเจ้าหน้าที่ได้

ทั้งนี้ การให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่ทำงานทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ ได้วิเคราะห์ PT/EQA ทำให้ทีมงานสามารถปรับปรุงให้ผลการทดสอบของตนมีความน่าเชื่อถือและแม่นยำยิ่งขึ้นสำหรับผู้ป่วย อีกตัวอย่างหนึ่งคือ หลังจากสมัครเข้าร่วมโปรแกรม malaria rapid antigen แล้ว ทีมงานได้เรียนรู้เรื่องผลการทดสอบที่ไม่ถูกต้อง และการฝึกฝนทักษะการแก้ปัญหายังช่วยให้ทีมงานได้ค้นพบปัญหาเกี่ยวกับชุดทดสอบ ประสบการณ์ดังกล่าวนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่เข้าใจว่า เพราะเหตุใด CAP จึงให้ความสำคัญกับคุณภาพของทุกส่วนในห้องปฏิบัติการ ไม่ใช่เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น

อีกทั้งยังดำเนินการปรับปรุงอื่น ๆ ตามลำดับเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดใน checklist หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดที่ทีมงานได้ดำเนินการคือ การจัดทำระบบ “One barcode” ที่ช่วยลดจำนวนสิ่งส่งตรวจที่ติดฉลากผิดได้เป็นจำนวนมาก และลดเวลาการทดสอบจาก 50–55 นาทีเป็น 44 นาที การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การปรับดัชนีชี้วัดผลงาน (KPI) ของห้องปฏิบัติการให้สอดคล้องกับ checklist ซึ่งช่วยให้ทีมงานติดตามผลลัพธ์ ประสบการณ์ และความพึงพอใจของผู้ป่วยได้ดีมากขึ้น

ในระหว่างกระบวนการรับรองคุณภาพ ทีมงานยังค้นพบด้วยว่าวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งของศิริราช[2] ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ การให้เกียรติกัน และการคิดสร้างสรรค์ ได้ช่วยให้ทีมงานบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ และจากนี้ไป ทีมงานคาดหวังว่าจะดำเนินการปรับปรุงในหลายด้านเพิ่มขึ้นอีก

ทักษะการเรียนรู้เสริมสร้างประสิทธิภาพแนวทางปฏิบัติของห้องปฏิบัติการ

ในฐานะโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชั้นนำ การเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ในกระบวนการรับรองมาตรฐานของ CAP แพทย์ประจำบ้านและเจ้าหน้าที่ไม่เพียงได้เรียนรู้เรื่องคุณภาพของห้องปฏิบัติการเท่านั้น แต่ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้าล่าสุดและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ ทีมงานจึงมีความมั่นใจมากขึ้นถึงคุณภาพของการทดสอบ การบริการ การเรียนการสอน และการฝึกอบรม

ศ. ดร. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “กระบวนการรับรองคุณภาพเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะช่วยกระตุ้นทีมงานและแสดงให้เห็นว่ายังคงมีโอกาสให้ทีมงานของเราปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง” ความท้าทายถัดไปที่รออยู่คือ การรักษาการรับรองคุณภาพเอาไว้ แต่เนื่องจาก CAP ช่วยให้เข้าถึงทรัพยากรที่หลากหลายและ

checklists ที่มีการอัปเดตทุกปี ทีมงานจึงมีความพร้อมที่จะรับมือกับภารกิจสำคัญนี้ สำหรับองค์กรอื่น ๆ ที่ต้องการการรับรองคุณภาพจาก

CAP นั้น ศ. ดร. นพ. ประสิทธิ์ แนะนำให้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ขององค์กรเองและเพื่อชื่อเสียงด้านบริการทางการแพทย์ของประเทศด้วย

การรับรองคุณภาพจาก CAP ทำให้เรารู้สึกมั่นใจมากขึ้นถึงบริการ กิจกรรมการเรียนการสอนและการฝึกอบรม รวมถึงคุณภาพของเรา

ศ. ดร.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล


1. Best Global Universities for Clinical Medicine in Thailand. https://www.usnews.com/education/best-global-universities/thailand/clinical-medicine. Accessed December 14, 2022.

2. วัฒนธรรมศิริราช (Siriraj) ประกอบด้วย

Seniority (รักกันดุจพี่น้อง)
Integrity (ซื่อสัตย์ ถูกต้อง เชื่อถือได้)
Responsibility (รับผิดชอบ มีประสิทธิภาพ ตรงต่อเวลา)
Innovation (คิดสร้างสรรค์)
Respect (ให้เกียรติ เอาใจเขามาใส่ใจเรา)
Altruism (คำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่นและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง)
Journey to Excellence and Sustainability (มุ่งมั่นพัฒนาสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน)